金萱 จินเชวียน คือพันธุ์ชาจากไต้หวันครับ ไทยได้นำมาปลูกกันหลายสิบปีแล้ว ข้อดีของชาพันธุ์นี้คือปลูกบนที่ราบได้ ให้ผลผลิตดี ชอบแดด ชอบน้ำ ใบชาสดสามารถนำไปทำชาได้หลากหลาย ทั้งชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง ชาดำ ส่วนตัวแล้วเป็นชาสายพันธุ์ที่ชอบมากพันธุ์หนึ่งครับ เพราะพื้นรสชาติของสายพันธุ์ค่อนข้างดีจริงๆ แต่ในไทยยังมีผู้ผลิตน้อยรายที่สามารถนำชาพันธุ์นี้ทำออกมาดีๆได้ หมายถึงว่ารสชาติของชาที่ปลูกในไทยนั้น มีรสชาติดีที่ไม่แพ้ชาที่ปลูกในประเทศอื่นๆ เราขาดแต่ก็เพียงเทคนิคในการผลิตเท่านั้น รสชาติใบชาแห้งของเราจึงสู้ของที่อื่นไม่ได้ นอกจากผู้ทำชาผู้นั้นจะเป็นประมาจารย์จริงๆ ซึ่งก็มีเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้นในประเทศไทย
พันธุ์จินเชวียนที่ปลูกในไทยนี้มีทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและลูกผสม คือเมื่อตอนที่ไต้หวันส่งเมล็ดพันธุ์มาให้ไทยนั้น แน่นอนว่าเมล็ดเหล่านั้นมีรหัสพันธุกรรมที่ไม่เหมือนต้นแม่แล้ว เพราะเกิดจากการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ พอเกสรเพศผู้และเพศเมียเข้าผสมกัน รหัสพันธุกรรมที่ได้จึงออกมาเป็นชุดใหม่ ไม่เหมือนเดิม
กระนั้นก็ตาม ถ้าหากเกสรเพศผู้และเพศเมียมาจากต้นชาที่มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกัน รุ่นลูกที่ออกมาก็จะไม่มีความแตกต่างจากต้นแม่มากนัก เนื่องจากความสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้กันมาก ดังนั้นการขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรในขั้นนี้ จึงได้รุ่นลูกที่ยังคงมีรสชาติและคุณสมบัติที่ค่อนข้างเหมือนต้นแม่ครับ ถ้าเก็บผลผลิตนำมาผลิตชาล็อตเดียวกัน ก็จะยังคงควบคุมคุณภาพทางด้านรสชาติได้ ส่วนการผสมพันธุ์ในลำดับที่ต่อจากนี้ ก็จะได้รุ่นหลานที่ห่างไกลจากต้นดั้งเดิมไปเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้ จินเชวียนบนดอยต่างๆในประเทศไทย จึงมีใบที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย เนื่องจากเป็นต้นที่เพาะมาจากเมล็ดที่ไทยได้รับมาจากไต้หวันนั่นเอง
แต่ก็มีบางไร่ในเชียงราย ที่ไปเอากิ่งชำมาจากทางไต้หวันโดยตรง แล้วทำการขยายพันธุ์เอง ถ้าเป็นกิ่งชำพวกนี้ รหัสพันธุกรรมยังคงเหมือนเดิมกับต้นที่ไต้หวันทุกประการ
ส่วนถ้าถามว่ากิ่งชำกับเมล็ด แบบไหนรสดีกว่ากัน ถ้ายึดตามหลักวิทยาศาสตร์บอกว่าตอบไม่ได้ครับ เพราะสายพันธุ์ต้นแม่ที่คัดเลือกกันมา ก็คัดเลือกจากพี่น้องของมันในรุ่นเดียวกันเพียงเท่านั้น ซึ่งความเป็นไปได้ที่รุ่นลูกที่เกิดจากการผสมพันธุ์กันเองจะมีรสชาติดีกว่าหรือด้อยกว่า หรือดีเท่ากันกับรุ่นแม่ ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น ถ้ามีการทดสอบโดยใช้วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ จนเจอว่ามีรุ่นลูกที่มีความพิเศษเหนือกว่ารุ่นแม่ รุ่นลูกตัวนั้นก็จะได้รับการยกขึ้นเป็นสายพันธุ์ใหม่
ชาที่ทำมาจากพันธุ์จินเชวียน เรามีหลายตัวครับ ทั้งชาขาว ชาดำ/ชาแดง ชาอู่หลง และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่าง R&D เพื่อใช้ใบชาสายพันธุ์นี้นำมาทำเป็นชาตัวใหม่ๆครับ
KYOBASHI chiang rai