เรามาดูกันครับ ว่าชากิโลละ 1.32 ล้านบาท หน้าตาเป็นยังไง
ตัวนี้เป็นชาตงฟางเหม่ยเหริน ล็อตที่ชนะรางวัลชนะเลิศ เท่อเติ๋งเจี่ยง 特等獎 ซึ่งในแต่ละปี จะมีการประกวด ชา สองฤดู คือฤดูร้อน กับฤดูหนาว (เฉพาะชาตงฟางเหม่ยเหรินนะครับ ถ้าเป็นชาตัวอื่นๆ เช่นเปาจ่ง เถี่ยกวนอิน จะประกวดฤดูใบไม้ผลิ กับฤดูหนาว) แต่ละรอบจะมีชาเข้าร่วมประกวดประมาณ 1,000 ล็อต จากผู้ผลิตหลายร้อยราย คนที่ได้รางวัลชนะเลิศ จะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น โดยชาแต่ละล็อตที่ส่งประกวด จะมีทั้งสิ้น 10 ชั่งไต้หวัน (ชั่งละ 6 ขีด) ก็เท่ากับ 6 กิโลกรัม
ราคาประกาศของสมาคม คือให้ขายชั่งละ 660,000 หยวนไต้หวัน คิดเป็นกิโลกรัมละ 1,320,000 บาท เท่ากับกรัมละ 1,320 บาท การชงครั้งหนึ่งใช้ชา 3 กรัม ก็เท่ากับว่าชาแต่ละกา มูลค่าอยู่ที่เกือบๆสี่พันบาท ประมาณนั้นครับ
.
ในไต้หวันมีบ้านที่ทำตงฟางเหม่ยเหรินอยู่หลายร้อยบ้าน แต่ในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา บ้านเพื่อนชนะรางวัลนี้ไป 16 ครั้ง พูดง่ายๆก็คืออยู่บนยอดปิระมิด เป็นอันดับหนึ่งในไต้หวัน ส่วนบ้านอื่นๆที่โด่งดังพอๆกัน เพราะผลัดกันชนะรางวัลไปมา ก็คือบ้านหยาง กับบ้านเจียง ผมไปบ้านหยางมาแล้ว เถ้าแก่คนปัจจุบันไม่มีลูกสืบทอด แล้วแกก็บอกว่าจะไม่ยอมสอนเทคนิคให้กับใครทั้งสิ้น
ฤดูร้อนปีนี้ บ้านเพื่อนชนะรางวัลชนะเลิศครับ เพื่อนบอกว่า ชากิโลละ 1.32 ล้านที่ชนะรางวัล ขายหมดภายใน 2 วัน ผมเคยถามเพื่อนว่าใครซื้อ เพื่อนบอกไม่รู้ แต่คงเป็นคนที่รวยมาก เพื่อนบอกว่าถ้าเป็นเพื่อน ถึงมีเงินก็ไม่ซื้อ (ผมแอบคิดในใจ ก็แน่ละครับ บ้านเขาผลิตเองได้ 555)
.
ส่วนล็อตในรูปที่ถ่ายมา เป็นล็อตชนะเลิศของฤดูร้อนปีที่แล้วครับ ปี 2021 ปีนั้นบ้านเพื่อนไม่ชนะ แต่คนชนะคือเถ้าแก่ร้านต้าสึไส้ พ่อค้าคนกลางชื่อดังในไทเป เถ้าแก่คนนี้เป็น dealer ตงฟางเหม่ยเหรินรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออก วันนั้นแกชวนผมไปบ้านหยาง กับบ้านอื่น เพื่อคัดเลือกชาส่งเข้าประกวด ชาตัวที่เห็นนี้ คือตัวที่ไปรับมาจากเตาอบแล้วส่งเข้าประกวด ชงดื่มกันทั้งหมด 4 คน ใช้ ชา 3 กรัม เก็บรูปไว้ในโทรศัพท์นานไม่ได้โพสต์ลงเพจ วันนี้คิดว่าเป็นโอกาสดี จึงนำรูปมาให้ชมกันครับ
ปกติการชงตงฟางเหม่ยเหริน จะใช้น้ำ 85 องศาเซลเซียสครับ ไม่ใช้น้ำเดือด อุณหภูมินี้คืออุณหภูมิที่ได้ชารสชาติดีที่สุด เพอร์เฟ็คที่สุด ท่านใดใช้น้ำร้อน 100 องศามาตลอดให้ลองเปลี่ยนนะครับ รสชาติจะดีขึ้นแบบชัดเจนเลย สัดส่วนการชงคือใบชา 3 กรัม ต่อน้ำ 120 ml แช่ไว้ราว 90 วินาที ถ้าชาตัวดีๆ ชงไปได้เลยครับ 4-5 น้ำ หวานปานน้ำผึ้ง รสชาติซับซ้อนเป็น layers เหมือนอยู่ในทุ่งผลไม้กับดอกไม้
.
ตัวที่ชนะรางวัลชนะเลิศนี้ ถามว่ารสดีมั้ย ตอบได้เลยว่าดีจริงครับ ชิมเข้าไปเสร็จ รอยยิ้มมันปรากฏออกมาบนใบหน้าทันทีเลย แต่ด้วยความที่ราคาสูงมาก ผมก็เจียมตัวเองเป็น คิดได้แต่เพียงว่ามีเถ้าแก่พาไปดู แบ่งชาให้ชิม ก็เป็นโอกาสที่ดีมากๆแล้ว (จริงๆเถ้าแก่บอกว่าจะซื้อ 3 กรัม 6 กรัม 12 กรัม ก็ได้นะ จะแบ่งขายให้ แต่ผมก็ปฎิเสธ 5555)
ตงฟางเหม่ยเหรินที่ได้รางวัลเท่อเติ๋งเจี่ยง ต้องมีสองสีเท่านั้น คือสีขาวกับสีน้ำตาลแดง
สองวันก่อนที่ไปบ้านเพื่อน ก็ได้เห็นชาที่อาอี๋ อาม่า เก็บกันเข้าโรงงาน ยอดชาล็อตประกวด กับยอดชาล็อตปกติ จะต่างกันครับ ถ้าเป็นล็อตประกวด จะเห็นได้เลยว่ายอดมันมีขนาดเล็กมากๆ เพราะยอดเล็กแบบนี้เนี่ยแหละ รสชาติมันถึงออกมาวิเศษ ถ้าใครได้ทันชาล็อตประกวดรางวัลที่เอามาแบ่งกันชิมเมื่อช่วงหลายเดือนก่อน ที่แบ่งขายกรัมละ 100 บาท คงจะจำรสชาติกับยอดชาได้นะครับ มันจะเล็กๆจิ๋วๆแบบนี้แหละ เห็นลูกค้าที่ซื้อไปลองชิมเพื่อประสบการณ์แต่ละท่านก็ตอบรับมาว่ารสมันวิเศษมาก คืนนี้ผมเอามาชงชิมอีกเพราะยังเหลืออยู่ ก็คิดแบบนั้นครับ มันวิเศษจริงๆ
.
ตอนที่ไปชิมชารางวัลชนะเลิศในรูปกับเถ้าแก่ร้านต้าสึไส้ แกถามผมว่า รู้มั้ยว่าชาตัวนี้ แตกต่างจากตัวอื่นๆอย่างไร รู้ไหมว่ามีกี่สี?
ตอนนั้นผมก็งง ไม่รู้จะตอบยังไง เคยได้ยินมาบ้างว่าตงฟางเหม่ยเหรินคือชา 5 สี บ้างก็ว่ามีสีขาว แดง น้ำตาล ส้ม เขียว ก็เลยตอบไปว่ามีห้าสี
แต่เถ้าแก่บอกว่าผิด แกบอกว่าตงฟางเหม่ยเหรินที่ได้รางวัลเท่อเติ๋งเจี่ยง ต้องมีสองสีเท่านั้น คือสีขาวกับสีน้ำตาลแดง แบบในรูป
หยางรุ่ยหลง อาจารย์ชาชื่อดังอีกท่านหนึ่งของไต้หวัน
ในรูปแรก ผู้ชายด้านขวามือคือ ฉือโหย่วฝู เถ้าแก่ร้านต้าสึไส้ ร้านขายส่งและขายปลีกชาในไทเป ส่วนผู้ชายมีอายุใส่เสื้อโปโลสีดำแดงตรงกลางของรูปคือ หยางรุ่ยหลง อาจารย์ชาตงฟางเหม่ยเหรินที่เก่งกาจอีกท่านหนึ่งของไต้หวัน ส่วนผู้ชายในด้านซ้ายของรูป เป็นอาจารย์ชาแดง ทำชาอยู่ที่ทะเลสาบรื่อเย่ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม Sun Moon Lake คนนี้อายุยังไม่มาก แต่ก็ได้รางวัลมาบ้างแล้ว
.
หยางรุ่ยหลง เป็นรุ่นที่สามในครอบครัวที่ทำชาครับ แกเพิ่งมาดังในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ เพราะชนะรางวัลชาตงฟางเหม่ยเหรินแบบถี่ๆติดต่อกัน โดยในรอบ 5 ปีมานี้ แกชนะรางวัลชนะเลิศมา 2 ครั้ง (เท่อเติ๋งเจี่ยง รางวัลสูงที่สุด) และชนะรางวัลที่หนึ่งมาราวๆ 40 ครั้ง (โถเติ๋งเจี่ยง รางวัลรองจากชนะเลิศ) บ้านกับโรงงานของแกอยู่ไม่ไกลจากบ้านเพื่อนผม (บ้านฉือ) คืออยู่ที่เป๋ยผู่ ในชินจู๋ นอกจากสองบ้านนี้แล้ว เถ้าแก่ร้านต้าสึไส้ยังบอกผมว่ามีอีกบ้านหนึ่งที่โด่งดัง คือบ้านเจียง แต่ผมไม่รู้จักและไม่เคยไปครับ
อาจารย์หยางรุ่ยหลง จะไม่ใช้การตากแดดในการตากใบชาครับ ซึ่งเป็นการฉีกตำราผลิตชาที่มีมาเป็นพันๆปี (ห้าพันปี) แต่ใช้เครื่องดูดความชื้นในโรงงานในการทำให้น้ำในใบชาค่อยๆระเหยออกมาแทน
เหรินเค๋ออี่เติ่งฉาเย่ ฉาเย่ปู้เติ๋งหนี่ 人可以等茶葉 茶葉不等你 แปลได้ว่า คนน่ะรอใบชาได้ แต่ใบชาไม่รอคน
จริงๆขั้นตอนการตากใบชาสด เป็นขั้นตอนสำคัญนะครับ ใบชาจะหอมหรือไม่หอม จะพร้อมสำหรับการนำเข้าสู่กระบวนการต่อไปหรือไม่ การตากนี่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญเลย ชาที่ต้องผ่านการตากแดด จะมีชาขาว ชาอู่หลง และชาแดง แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ มีการพัฒนาเทคโนโลยี ชาแดงในไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ หรือแม้แต่ในอินเดีย มีการใช้ลมร้อนเป่าแทนการเอาใบชาสดไปตากแดด แต่อาจารย์หยางรุ่ยหลงแกใช้วิธีติดตั้งเครื่องดูดความชื้นในโรงงาน ให้ใบชาค่อยๆแห้ง และค่อยๆส่งกลิ่นหอมออกมา
.
ส่วนบ้านเพื่อน (บ้านฉือ) ใช้การตากแดดครับ
.
อาจารย์หยางรุ่ยหลง แกเป็นเจ้าของประโยค เหรินเค๋ออี่เติ่งฉาเย่ ฉาเย่ปู้เติ๋งหนี่ 人可以等茶葉 茶葉不等你 แปลได้ว่า คนน่ะรอใบชาได้ แต่ใบชาไม่รอคน
แกบอกว่า เพราะการผลิตชา โดยเฉพาะชาอู่หลง สูตรต้องเป๊ะ เขย่ากี่ที พักกี่นาที พักนานเท่าไรแล้วจึงเอาใบชามาเขย่าต่อ ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะถ้าทำผิดไปนิดเดียว ถึงระยะเวลาจะผิดจากสูตรไปไม่กี่นาที แต่รสชาติหลังจากนั้นจะห่างกันไกลจนกู่ไม่กลับเลย
.
ด้วยเหตุนี้ เวลาทำชา อาจารย์หยางรุ่ยหลง จะนอนในโรงงานตลอด แกบอกว่า สมมุติว่าฤดูทำชาแกทำทั้งหมด 18 วัน แกก็จะนอนในโรงงานนั่นแหละทั้ง 18 วัน
.
ที่ไต้หวันมีบ้านที่ทำชาตงฟางเหม่ยเหรินหลักร้อยบ้านครับ กระจายตัวอยู่ในชินจู๋ เหมียวลี่ และเถาเยวี๋ยน แต่พื้นที่ที่ดังที่สุด คือเป๋ยผู่ ในชินจู๋ครับ บ้านฉือ บ้านเจียง และบ้านหยาง ก็อยู่ในเป๋ยผู้ทั้งสิ้น
.
จริงๆบ้านหยางนี่ผมไปแค่ครั้งเดียว คือไปกับเถ้าแก่ร้านต้าสึไส้ ตัวเถ้าแก่หยางแกไม่รู้จักผมหรอก เพราะวันนั้นผมไปในฐานะลูกค้าและคนต่างชาติ 5555 รูปนี้ถ่ายตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วครับ เถ้าแก่ร้านต้าสึไส้แกสั่งเกษตรกรทำชาไว้เยอะมาก วันนั้นแกไปรับชาจากโรงงานบ้านหยาง เลยชวนผมไปด้วย
.
อยู่โรงงานบ้านหยางตั้งแต่เที่ยงจนถึงสามทุ่มครึ่ง ชิมชาไปทั้งหมด 32 ตัว พอชิมเสร็จเถ้าแก่มีการถามว่า ชอบตัวไหน? เลือกมาหน่อยสามตัว? ตอนนั้นผมใจเต้นตึกตัก กลัวเลือกตัวไม่อร่อยไปแล้วแกคิดว่าดื่มชาไม่เป็น 5555
.
อยู่ไต้หวันเวลาเขาคุยเรื่องชากันต้องทำตัวเล็กๆลีบๆครับ เพราะเขาเก่งกันหมดเลย เวลาเขาวิจารณ์ชากัน ไม่มีการบอกว่า ชาที่ดีคือชาที่ตัวเองชอบ เขาจะวิจารณ์กันตามตำรามาเป็นฉอดๆๆๆๆ (ที่ไต้หวันมีการสอน มีการสอบ ได้ระดับเป็นเรื่องเป็นราว) คนดื่มชาอายุไม่มาก ถ้าอยู่กับคนมีความรู้เรื่องชา แล้วเขาถามว่าดื่มแล้วได้รสนั้นรสนี้มั้ย ถ้าพยักหน้าตอบว่าได้ๆๆอย่างเดียว เขาจะแซวครับ ว่า 就算喝不到也要說有 จิ้วซ่วนเฮอปู๋เต้าเหยี่ยเย้าซัวโหย่ว หมายถึงว่า “ถึงจะดื่มไม่รู้รส(แบบที่เขาบอก) แต่ก็ต้องบอกก่อนว่ารู้รสใช่มั้ย?” ถือเป็นการแซวเล่นๆครับ 555
แต่โชคดีวันนั้นผมเลือกไป 3 ตัวจาก 32 ตัวที่ชิม ตรงกับที่เถ้าแก่เลือกไว้ 2 ตัว อีกตัวหนึ่งถึงจะไม่ตรงแต่ก็เป็นตัวที่แกลังเล (โล่งอก)
.
หลังจากชิมชาเสร็จสามทุ่มครึ่ง วันนั้นก็เดินทางต่อไปยังอีกบ้านหนึ่งครับ เพื่อไปรับชาตงฟางเหม่ยเหรินอีกล็อตหนึ่งมา ล็อตนั้นคือล็อตที่ชนะรางวัลเท่อเติ๋งเจี่ยงเมื่อปีก่อน แล้วขายได้กิโลละ 1.32 ล้านบาทครับ
เวลาชงตงฟางเหม่ยเหริน สำหรับดื่มเอง จะใช้น้ำ 85 องศาชงนะครับ รสจะออกมาเพอร์เฟ็คมาก แต่เวลาประกวดชา เขาจะใช้น้ำ 100 องศา คือเดือดปุดๆๆก็เท่าใส่ชาไปเลย จากนั้นก็แช่ไว้ 6 นาที (อัตราส่วนชา 3 กรัม ต่อน้ำ 140 cc) สาเหตุก็เพราะว่าชงแบบนั้น รสชาติแฝงที่ซ่อนเร้นอยู่จะถูกดึงออกมาหมดครับ ตัวที่ได้รางวัลชนะเลิศ รางวัลที่หนึ่ง ก็คือชาตัวที่ ถึงแม้จะดึงรสชาติแฝงออกมาหมด ก็ยังอร่อยมากๆ เท่ากับว่าพอเอาชาพวกนี้ไปชงด้วยน้ำ 85 องศา ก็จะทำให้ยิ่งอร่อยมากๆๆๆๆยิ่งขึ้นไปอีก (ข้อมูลนี้เถ้าแก่ร้านต้าสึไส้ที่ชนะรางวัลปีก่อนอธิบายให้ฟังครับ)
Kyobashi Chiang Rai
Shopee: https://shp.ee/42csv8g
Lazada: lazada.co.th/shop/kyobashi-tea
Line Official ID: @kyobashi.tea
Line Shop: https://shop.line.me/@kyobashi.tea