การค้นพบใหม่ๆมักมีสาเหตุมาจากลักษณะนิสัยของการเป็นคนช่างสังเกต ในยุคเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) มีชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งได้รับสมญานามเชิงดูถูกแกมขบขันจากเพื่อนบ้านว่า อิตะจิ ที่แปลว่า เพียงพอน โดยชื่อนี้มีที่มาสืบเนื่องมาจากกิริยาที่ชอบเข้าไปด้อมๆมองๆ ศีรษะผลุบๆโผล่ๆอยู่ตามสวน ชาญี่ปุ่น ของชาวบ้าน ไม่ต่างจากตัวเพียงพอน ที่มักจะเข้ามาเพ่นพ่านอยู่ในสวนชานั่นเอง
.
การค้นพบสายพันธุ์ ชาญี่ปุ่น นี้มีสาเหตุมาจากการเป็นคนช่างสังเกต
ชายหนุ่มผู้นั้น มีชื่อจริงว่า สึงิยะมะ ฮิโขะสะบุโร่ (ค.ศ. 1857-1941) เป็นชาวจังหวัดชิซึโอะกะโดยกำเนิด ถึงแม้จะได้รับสมญานามว่า เพียงพอน จากชาวบ้านในละแวกนะยะโยะชิดะในอดีต แต่ในปัจจุบัน สึงิยะมะ ฮิโขะสะบุโร่ เป็นที่รู้จักกันในนามผู้ให้กำเนิดต้นชาสายพันธุ์ยะบุขิตะ สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ครอบครองพื้นที่ปลูกถึงมากกว่า 80% ของพื้นที่ปลูกชาทั้งหมดในประเทศ และเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะชาเซนฉะ ซึ่งว่ากันว่าพันธุ์ยะบุขิตะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการนำมาทำชาเซนฉะมากที่สุด
.
จุดเริ่มต้นของการค้นพบสายพันธุ์นี้มีสาเหตุมาจากการเป็นคนช่างสังเกต มองเห็นความแตกต่างแม้เพียงเล็กน้อยที่มีอยู่ในธรรมชาติ หากสึงิยะมะไม่มองเห็นความแตกต่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ รสชาติของชาญี่ปุ่นในทุกวันนี้ก็อาจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
.
สึงิยะมะ ฮิโขะสะบุโร่ เกิดในตระกูลผู้ผลิตเหล้าสาเก บิดาเป็นทั้งผู้สืบทอดธุรกิจและแพทย์แผนจีน ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นดั้งเดิม กิจการของครอบครัวจะถูกสืบทอดต่อไปยังลูกชายคนแรกในแต่ละรุ่น ทว่าหลังจากผ่านเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น สึงิยะมะ ก็ตัดสินใจแล้วว่าจะเอาดีด้านการเกษตร จึงมอบภาระการสืบทอดกิจการผลิตเหล้าสาเกให้กับน้องชาย ส่วนตนเองนั้นหันไปริเริ่มปลูกชา
.
ในยุคสมัยเมจิตอนต้นนั้น เป็นยุคที่กิจการค้าชาเริ่มรุ่งเรืองในประเทศญี่ปุ่น เมื่อถึงวัยยี่สิบ ในปี ค.ศ. 1877 นั้นเอง สึงิยะมะก็ได้มีไร่ชาอยู่ราวๆ 18 ไร่ (คิดตามมาตรวัดของไทย) หากแต่คุณภาพของชาที่ผลิตได้ในช่วงนั้นยังมีคุณภาพไม่ดี รสชาติไม่อร่อย เนื่องมาจากสึงิยะมะเรียนรู้กระบวนการทุกอย่างด้วยตนเอง ทั้งการปลูกชาและการผลิตใบชาแห้ง ทุกอย่างจึงต้องเริ่มตั้งแต่ศูนย์ ลองผิดลองถูกด้วยตนเองทั้งหมด
.
ในปีนั้นเอง สึงิยะมะได้พบกับยะมะดะ ฟุมิสึเกะ ญาติห่างๆที่เป็นผู้ผลิตชามากด้วยประสบการณ์และความสามารถ ชาที่ยะมะดะผลิต โดยเฉพาะเซนฉะนวดมือ ที่จำหน่ายในชื่อว่า เทนกะอิจิ หรือ หนึ่งในไต้หล้า สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูง สึงิยะมะตัดสินใจเรียนรู้การทำชาจากญาติผู้พี่ โดยเริ่มตั้งแต่การเก็บยอดชาในสวนชาของยะมะดะ คำชี้แนะจากยะมะดะที่มีต่อสึงิยะมะนั้น คือคุณภาพของชาแห้งจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของใบชาสด หากคุณภาพของใบชาสดไม่ดี ชาแห้งที่ทำออกมาก็จะคุณภาพไม่ดี
ในการเรียนรู้วิธีการผลิตชาเขียวนวดมือนั้น ยะมะดะตอกย้ำชัดเจนถึงลักษณะของยอดชาที่เหมาะสม กล่าวคือต้องเป็นยอดชาที่อ่อน ดังนั้นในทุกๆเช้า ญาติผู้พี่และผู้น้องทั้งสองต่างต้องลงไปเก็บยอดชาตั้งแต่เช้าตรู่
.
ทว่า ณ จุดนี้เองที่สึงิยะมะเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่าง เนื่องจากต้นชาแต่ละต้นมีลักษณะไม่เหมือนกัน บางต้นมียอดแข็ง บางต้นมียอดอ่อน อีกทั้งขนาดของยอดชาก็มีขนาดไม่เท่ากัน กล่าวคือในขณะที่บางต้นมีขนาดของยอดชาและใบอ่อนที่เหมาะสมพร้อมเก็บเกี่ยว แต่บางต้นก็มีขนาดของยอดและใบที่เล็กเกินไป ส่วนบางต้นยอดอ่อนก็ผลิออกแล้วเจริญเติบโตเป็นใบชาใบใหญ่
ตลอดชีวิตของสึงิยะมะ เขาได้ทำการคัดแยกสายพันธุ์ที่ดีออกมาทั้งหมดกว่าหนึ่งร้อยสายพันธุ์
ดังนั้น กว่าทั้งสองจะสามารถเก็บยอดชาได้หมด ก็ใช้เวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ โดยยอดชาที่เก็บได้ก็ต้องนำมาทยอยทำเป็นชาเขียวเซนฉะทุกวัน วันละเล็กละน้อย เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนและความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง!!
.
สึงิยะมะสังเกตเห็นความแตกต่างของต้นชาที่เกิดขึ้น และเริ่มฉุกคิดได้ว่าต้นชาก็มีทั้งดีและไม่ดี ทั้งในแง่ของรสชาติและระยะเวลาการเก็บเกี่ยว หลังจากเรียนรู้การทำชาจากญาติผู้พี่ สึงิยะมะก็ได้เริ่มทำการเก็บและคัดเลือกสายพันธุ์ชา โดยเริ่มจากสวนชาใกล้ๆ ซึ่งเขาจะเข้าไปศึกษาลักษณะของต้นชา คัดเลือกเฉพาะต้นที่ดูแข็งแรง จากนั้นก็ทำการแยกประเภทของต้นชา โดยใช้ช่วงระยะเวลาของการแตกยอด ให้เป็นสามช่วงเวลาคือ เร็ว กลาง และช้า จากนั้นก็ทำการเก็บเมล็ดของต้นชาต้นแม่ดังกล่าว นำมาเพาะ ปลูก ทำการจดบันทึกลักษณะต่างๆของต้นชาด้วยตนเอง
.
สึงิยะมะไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์หรือการจำแนกสายพันธุ์ชามาแต่อย่างใด หากแต่ทักษะทุกอย่างนั้นพัฒนาขึ้นจากการเรียนรู้และการช่างสังเกตของตนเอง ด้วยนิสัยของการชอบเข้าไปคลุกอยู่ในสวนชา สังเกตลักษณะของต้นชา เก็บเมล็ดพันธุ์นี่เอง ที่ให้เขาได้รับชื่อเล่นว่า อิตะจิ หรือ เพียงพอน
.
เมล็ดพันธุ์จากต้นชาสายพันธุ์ดีที่ได้มา ถูกนำมาเพาะไว้ในสวนชาของสึงิยะมะ จนกระทั่งเมื่อถึงปี ค.ศ. 1908 สึงิยะมะก็ได้ทำการถางป่าไผ่ในที่ดินส่วนตัว บริเวณด้านหน้าของศาลเจ้าสึชิมะในปัจจุบัน สายพันธุ์ชาที่สึงิยะมะเก็บสะสมไว้นั้น มีมากถึงหลายร้อยต้น ส่วนหนึ่งถูกนำมาปลูกที่พื้นที่บริเวณป่าไผ่หน้าศาลเจ้า ซึ่งในบริเวณนี้เองที่สึงิยะมะได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความโดดเด่นออกมาสองสายพันธุ์
.
คำว่าป่าไผ่ในภาษาญี่ปุ่นนั้น เรียกว่า ทะเคะยะบุ คำว่าทะเคะ หมายถึงไผ่ ส่วนยะบุ หมายถึงป่าละเมาะ หรือป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดเล็ก ต้นชาสองต้นที่ถูกคัดเลือกมาจากพื้นที่นี้ ต้นหนึ่งอยู่ในบริเวณทิศเหนือ จึงถูกเรียกว่า ยะบุขิตะ (คำว่า ขิตะ แปลว่า ทิศเหนือ) อีกต้นหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ จึงถูกเรียกว่า ยะบุมินะมิ (คำว่า มินะมิ แปลว่า ทิศใต้)
.
กระนั้นก็ตาม แม้สึงิยะมะจะคัดเลือกต้นชาเหล่านี้ออกมาได้ จากความรู้และประสบการณ์ที่สะสมมานับสิบๆปี แต่ในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่นั้น สายพันธุ์เหล่านั้นก็ไม่เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งสึงิยะมะเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1941 ด้วยวัย 84 ปี โดยพื้นที่ทำการทดลอง คัดเลือก และปลูกสายพันธุ์ชานั้นถูกมอบให้กับจังหวัดชิซึโอะกะเพื่อทำการศึกษาค้นคว้าต่อ ณ เวลานั้นจึงเป็นที่ปรากฏว่าตลอดชีวิตของสึงิยะมะ เขาได้ทำการคัดแยกสายพันธุ์ที่ดีออกมาทั้งหมดกว่าหนึ่งร้อยสายพันธุ์
.
หลังการเสียชีวิต สายพันธุ์ชาที่ถูกคัดเลือกโดยสึงิยะมะก็ถูกนำมาทดสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาสายพันธุ์ที่ดีเด่น ทั้งในแง่ของการปลูก และในแง่ของผลิตภัณฑ์ชาแปรรูป ในปี ค.ศ. 1945 นั้นเอง จึงเป็นที่ปรากฏว่าสายพันธุ์ที่สึงิยะมะคัดเลือกออกมาจากทิศเหนือของพื้นที่ทดลองปลูก ที่เขาตั้งชื่อสายพันธุ์ว่ายะบุขิตะ มีความเป็นเลิศ กล่าวคือเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ ขยายพันธุ์ง่าย แตกยอดเร็ว รสชาติเหมาะสำหรับการทำชาเขียว จากผลการทดสอบสายพันธุ์นี้ สายพันธุ์ยะบุขิตะจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นโชเรฮินฉุ หรือสายพันธุ์ที่ควรค่าแก่การปลูกในจังหวัดชิซึโอะกะ และในปี ค.ศ. 1953 กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ก็ทำการส่งเสริมการปลูก กอปรกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เริ่มฟื้นตัว มีการส่งออกชาจากญี่ปุ่นไปขายยังต่างประเทศ ปริมาณการผลิตชาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากความสามารถในการออกรากที่เร็วของกิ่งชำ ความนิยมปลูกพันธุ์ยะบุขิตะในหมู่เกษตรกรจึงพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้สายพันธุ์นี้ขยายออกไปเป็นวงกว้าง จนครอบคลุมพื้นที่ปลูกมากกว่า 80% ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
.
รูปของสวนชาของคุณสึงิยะมะในปัจจุบัน https://www.ochanomachi-shizuokashi.jp/stories/story05/
KYOBASHI chiang rai
.บทความที่เกี่ยวข้อง
สอบถาม,เลือกชม หรือสั่งซื้อสินค้า
Fฺacebook Fanpage : รู้เฟื่องเรื่องชา
LINE SHOPPING : @kyobashi.tea