สุดสัปดาห์นี้ ผมมาเรียนวิธีทำชาตงฟางเหม่ยเหรินจากพ่อของเพื่อน ฉือเย่าเหลียง อาจารย์ชาตงฟางเหม่ยเหรินอันดับ 1 ของไต้หวัน ชาที่ได้ ชารางวัลชนะเลิศ ของโรงงานนี้ ขายกันกิโลกรัมละ 1.32 ล้านบาท (ชั่งละ 660,000 หยวนไต้หวัน) ทำชาเหนื่อยมาก ใบชาสดเข้าโรงงานวันละ 3 รอบ แต่ก็ได้ประสบการณ์มากเช่นกัน เอาไว้ถ้าได้กลับบ้าน จะลองกลับไปทำที่เชียงรายดูครับ
ยอดชาทางด้านขวา คือ ยอดชาล็อตประกวดครับ (比賽茶) รสชาติของชาที่ทำออกมาได้ ราคาขายจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 60,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ ราคาจะกระโดดไปสูงขนาดไหนขึ้นอยู่กับรสชาติที่อาจารย์ชาทำออกมาได้อีกทีหนึ่ง แต่ราคาขั้นต่ำจะอยู่ที่หกหมื่นบาทต่อกิโล ถ้าทำออกมาได้อร่อยราคาก็จะสูงกว่านี้ บางทีอาจสูงกว่าเป็นเท่าตัว
ชาแบบนี้จะไม่มีราคาขายส่ง เพราะปริมาณสต็อกที่ทำออกมาได้แต่ละฤดูไม่ถึงจำนวนขั้นต่ำของการสั่งซื้อแบบขายส่ง (ที่จีนแผ่นดินใหญ่ขายส่งชาเริ่มต้น 15 กิโลกรัม ไต้หวัน 18 กิโลกรัม)
.
ที่สำคัญ ยอดชาทางด้านขวา คือยอดของพันธุ์ชิงซินต้าหมั่ว พันธุ์ดั้งเดิมที่ใช้ทำชาตงฟางเหม่ยเหรินครับ การใช้พันธุ์ที่บรรพบุรุษใช้ในอดีต ก็จะสามารถคงรสชาติของต้นตำรับที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีตได้
.
ส่วนยอดชาทางด้านซ้าย คือยอดชาล็อตปกติ ที่ใช้ดื่มกันทั่วไปครับ สายพันธุ์คือจินเชวียน หรือที่คนไทยชอบเรียกกันว่า อู่หลงเบอร์ 12 ตัวนี้ทำออกมาได้ราคาจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละหมื่นบาทต้นๆ จินเชวียนก็เป็นอีกสายพันธุ์ที่ทำชาออกมาได้รสชาติอร่อยและซับซ้อนเหมือนกัน
ล็อตชาที่เราเอาเข้ามาจะเป็นพันธุ์ชิงซินต้าหมั่วทั้งหมดครับ เพราะที่บ้านเพื่อนเขาทำแต่ละล็อตจะเอามาแยกออกจากกันทั้งหมด ไม่นำมาเบลนด์ เพราะถือว่าแต่ละล็อตที่ทำออกมารสชาติมันมีความสมบูรณ์และซับซ้อนในตัวของมันอยู่แล้ว ตัวรสต้นตำรับจะเป็นยอดชาแบบทางขวา แต่ใช้พันธุ์ชิงซินต้าหมั่ว ราคาจึงจะสูงกว่าจินเชวียน ส่วนยอดชาทางด้านซ้าย เคยเอาเข้ามาในนามของล็อตประกวด แต่มีปริมาณจำกัด น่าจะมีหลายท่านทันได้ซื้อไปลองชิมอยู่ครับ วันนี้มีโอกาส ช่วงนี้ไต้หวันทำชาฤดูหนาว เลยเอารูปใบชาสดๆมาฝากกันครับ
หลังจากหมักชาเรียบร้อย ซึ่งกลิ่นและรสต่างๆของชาอู่หลง ทั้งหอมดอกไม้ รสฟรุ้ตตี้ จะเกิดขึ้นระหว่างการหมักนี้ ขั้นตอนถัดไปคือการผัดชาครับ การผัดชาก็มีหลายสูตร ชาที่ชงแบบ cold brew ได้ก็จะมีสูตรการผัดที่ต่างออกไปจากชาที่ชงร้อนได้อย่างเดียวครับ
ใบชาตงฟางเหม่ยเหริน ที่อบแห้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเป็นแบบนี้ครับ พันธุ์ชิงซินต้าหมั่ว สูตรต้นตำรับ จากบ้านอาจารย์ฉือเย่าเหลียงครับ
นี่คือยอดชาที่ถูกส่งเข้าโรงงานเมื่อ 10 โมงเช้าวันนี้ครับ สองสามวันนี้จะเก็บชายอดจิ๋วๆขนาดนี้ครับ คุณภาพยอดชาแบบนี้เวลาทำชาออกมาได้ รสชาติมักจะอยู่ในขั้นของชาที่ส่งเข้าประกวด ชาจะที่ส่งเข้าประกวด หลักๆจะแข่งขันกันที่ layer ของรสชาติกับกลิ่นที่ทับซ้อนกันหลายชั้น ความหวานติดลิ้น และความชุ่มคอ ส่วนสีของน้ำชา กับรูปลักษณ์ของใบชาแห้ง ก็มีส่วนที่ให้คะแนนเช่นกันครับ
เพลี้ยจักจั่นเขียว ภาษาจีนเรียก เฉี่ยวลื่อเย่ฉัน 小綠葉蟬 ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Jacobiasca formosana เป็นแมลงที่ชอบกัดยอดชาครับ จะมีมากที่สุดในฤดูร้อน เวลาแมลงกัดยอดชา ต้นชาจะสั่งการให้ยอดชาหลั่งสารเคมีตัวหนึ่งออกมา ซึ่งสารนั้นจะทำให้ยอดชามีกลิ่นและรสแบบน้ำผึ้งครับ เพื่อเรียกให้แมงมุม ซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของเพลี้ยจักจั่นเขียว มากำจัดเพลี้ย
ตอนอยู่ไทย เคยได้ยินเกษตรกรผู้ปลูกชาหลายคนพูดครับ ว่าจะดูไร่ชาว่าใช้ยาฆ่าแมลงหรือเปล่า ให้หาใยแมงมุม ไร่ชาที่มีใยแมงมุม แสดงว่าไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
ใบชาที่ถูกแมลงกัด ภาษาจีนมีคำเรียกหลากหลายครับ ทั้ง ฉันเฉี่ยง 蟬享 ฉงเหย่า 蟲咬 ฉันสุ่น 蟬吮
.
อย่างไรก็ตาม ใบชาแบบนี้ เหมาะสำหรับนำมาทำชาประเภทหมักหนัก เช่น ชาแดง เถี่ยกวนอิน ต้งติ่ง ตงฟางเหม่ยเหริน เท่านั้น หากนำไปทำชาเขียวหรืออู่หลงหมักน้อย เช่น ชิงเชียงอู่หลง จะมีรสขมและฝาด
เวลาดื่มชาดีๆต้องใช้สมาธิเหมือนกันครับ รสชาติมันละเอียด มีมิติที่ทับซ้อนกันหลายชั้น เวลาดื่มชากับคนทำชาที่ไต้หวัน เขาจะพูดกันว่ามัน โหย่วเสิง 有層 หมายถึงมีรสชาติซ้อนกันเป็นชั้นๆ เรื่องกลิ่นกับรสก็ต้องดูกลิ่นรสที่ปะทะกับประสาทสัมผัสเป็นกลิ่นแรก 前味 แล้วก็กลิ่นรสที่คงอยู่ในลำคอหลังจากกลืนน้ำชาลงคอไปแล้ว 後味 นอกจากนั้นก็ยังมีความชุ่มคอที่อยู่ในลำคอ ถ้าไม่มีสมาธินี่ ก็ดื่มไปไม่รู้เรื่องเหมือนกันครับ
ตงฟางเหม่ยเหริน จะมีตัวต้นตำรับกับเกรดท็อปนะครับ
ผมได้ราคาส่งจากบ้านเพื่อนมา ดังนั้นพอบวกต้นทุนต่างๆแล้ว ราคาขายในไทยจะแพงกว่าไต้หวันไม่มากครับ
.
ตัวต้นตำรับคือตัวที่ใช้ชิงซินต้าหมั่ว ผลิตตามวิธีดั้งเดิม เป็นตัวที่จับต้องได้มากที่สุด ส่วนตัวท็อป จะเป็นตัวที่มีรสชาติทับซ้อนกันหลายชั้น และเป็นตัวท็อปในระดับที่ว่า ถึงราคาจะแพงกว่านี้สองสามเท่าตัว แต่รสชาติก็จะไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ (หมายความว่า ถ้าไม่ได้เป็นนักชิมระดับเทพ ก็จะไม่รู้ถึงความแตกต่างที่มีอย่างชัดเจน ถึงราคาชาจะเริ่มต่างกันไปแล้ว 2-3 เท่าก็ตาม)
.
นโยบายของเราก็คือ ราคาชากับรสชาติจะต้องสัมพันธ์กันอย่างมากที่สุด ชาจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่อร่อยๆนั้น จริงๆแล้วราคาแพงจริง แต่ก็ไม่ได้แพงถึงขนาดที่จับต้องไม่ได้ หากรู้จักกับผู้ผลิตที่ผลิตชาเก่งๆและสามารถต่อรองราคาเป็น เพราะเราอยากให้คนไทยได้ดื่มชาที่คุณภาพสมกับราคามากที่สุดครับ
12/11/2022
Kyobashi Chiang Rai
Shopee: https://shp.ee/42csv8g
Lazada: lazada.co.th/shop/kyobashi-tea
Line Official ID: @kyobashi.tea
Line Shop: https://shop.line.me/@kyobashi.tea