อู่อี๋เหยียนฉา 武夷岩茶
เหยียนฉา คือชื่อเรียกของชาอู่หลงประเภทหนึ่งที่ผลิตกันในเขตอู่อี๋ซาน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ในบางครั้งอาจเรียกกันว่า อู่อี๋เหยียนฉา 武夷岩茶 ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Wuyi Rock Teas โดยเขตอู่อี๋ซานนั้นเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความสวยงาม อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดชาดีๆของโลกมากมาย ลักษณะภูมิประเทศของอู่อี๋ซานเป็นภูเขาหิน มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นแซมอยู่ตามซอกหิน รวมถึงต้นชา เป็นสาเหตุที่ชาที่ผลิตได้ที่นี่จะเรียกกันว่าเหยียนฉา มีความหมายถึงต้นชาที่ขึ้นอยู่ตามซอกหิน
ตั้งแต่หลายพันปีก่อน ชนชาติจีนรู้จักแต่เพียงการดื่มชาเขียว โดยชาอู่หลงและชาแดง (คนจีนเรียกชาแดง แต่ประเทศตะวันตกเรียกชาดำ) ถือเป็นชาที่กำเนิดขึ้นใหม่ในช่วงราว 300 กว่าปีที่ผ่านมา ชาแดงที่มีชื่อเสียงอย่างเจิ้งซานเสียวจ่ง และจินจวิ้นเหมย ก็เป็นชาที่มีต้นกำเนิดที่นี่ ทว่าชาทั้งสองประเภทนี้ไม่ถูกนับเป็นเหยียนฉา เพราะเหยียนฉาจะหมายถึงเฉพาะชาอู่หลงเท่านั้น
เหยียนฉาแต่ละตัวมีเรื่องเล่าและตำนานที่แตกต่างกันออกไป หากแต่ตำนานแต่ละตำนานจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ชาเหล่านี้มักมาจากต้นชาที่ขึ้นอยู่บนซอกหิน ซึ่งหากว่ากันด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์แล้ว สาเหตุที่ใบชาจากต้นชาที่ขึ้นอยู่ตามซอกหินผามีรสชาติอร่อย อาจเป็นเพราะแร่ธาตุที่อยู่ในดินนั่นเอง ทำให้เหยียนฉามีรสชาติดี แต่เนื่องด้วยความโด่งดังและผลผลิตที่มีจำกัดจากต้นชาต้นแม่ จึงมีการตอนกิ่ง ปักชำต้นชาเหล่านั้น นำลงมาปลูกบนพื้นที่อื่นๆในบริเวณอู่อี๋ซาน จนทุกวันนี้ ไร่ชาที่อยู่ในเขตอู่อี๋ซานหลายแห่ง คือไร่ชาที่เต็มไปด้วยลูกหลานของต้นชาที่ขึ้นอยู่บนซอกผาดังกล่าว ต้นชาเหล่านี้นี่เองที่เป็นผู้ให้กำเนิดผลผลิตของเหยียนฉาในปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม ไร่แต่ละไร่ ก็จะมีกรรมวิธีการดูแลต้นชา การเก็บใบชา การน้ำใบชาสดมาผลิตเป็นใบชาแห้งที่แตกต่างกัน ทำให้เหยียนฉาที่ออกมาในแต่ละปี แบ่งออกเป็นเกรดต่างๆ ตามคุณภาพ และลักษณะจำเพาะของรสชาติชาที่ผลิตออกมาได้แต่ละตัว
มีชาอยู่หลายตัวที่ถูกนับว่าเป็น เหยียนฉา ได้แต่ ต้าหงเผา สุ่ยเซียน โร่วกุ้ย สุ่ยจินกุ้ย เถี่ยหลัวฮั่น ทั้งนี้ ในบางตำรา จะมีการนับ เจิ้งซานเสียวจ่ง เป็นเหยียนฉาด้วย แต่ในบางตำราจะไม่นับ โดยให้เหตุผลว่าเจิ้งซานเสียวจ่งคือชาแดง ในขณะเหยียนฉา คือชาอู่หลง เพราะหากแบ่งประเภทชาตามการหมัก (fermentation) เหยียนฉา เป็นอู่หลง แต่จะเป็นชาอู่หลงที่มีลักษณะเป็นเส้น มีสีดำคล้ำ เพราะมีเปอร์เซ็นต์ของการหมักสูงกว่า (ราว 60-80%) และมีกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งเกิดจากการนำใบชาไปอบถ่าน ต่างจากเถี่ยกวนอินจากอานชี (จากฝูเจี้ยน มณฑลเดียวกัน) และอู่หลงที่ผลิตกันในไต้หวัน ที่จะเป็นเม็ดกลมและมีสีเขียวสด
KYOBASHI chiang rai