วิธีเก็บรักษาใบชา
ความรู้สำหรับ วิธีเก็บรักษาใบชา เป็นหนึ่งในความรู้พื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักชงชามือเก่าและมือใหม่ มีหลายครั้งที่เราซื้อชามามากเกินไปและดื่มไม่หมดภายในช่วงเวลาที่เคยคิดไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอทั้งคนที่เพิ่งเริ่มดื่มชา หรือดื่มมานานแล้ว สิ่งที่ผู้ดื่มชาทุกคนต้องทราบคือการเก็บใบชาเหล่านั้นให้มีสภาพคงอยู่ในระดับที่รสชาติไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก จริงๆแล้วความรู้ในการเก็บรักษาใบชานั้นมีกฏเกณฑ์ที่ไม่ยาก โดยยึดตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ หากทำความเข้าใจประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกฏเกณฑ์ทั้งหลายนั้นแล้ว ก็สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการเก็บรักษาใบชาประเภทต่างๆให้เหมาะกับพฤติกรรมการดื่มและวิถีในการชงชาของเราได้ในท้ายที่สุด
.
ข้อเท็จจริงอันดับแรกที่ต้องทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพใบชาก็คือความชื้น ใบชานั้นจัดว่าเป็นอาหารแห้ง อาหารแห้งนั้นจะคงสภาพอยู่ตราบนานเท่านานหากไม่มีความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในสภาวะโดยทั่วไปนั้นความชื้นมีอยู่ในทุกที่ และยิ่งเมื่อวัตถุมีสภาพแห้งเท่าใดมันก็ยิ่งดูดความชื้นเข้าสู่ตัวของมันมากขึ้น ตามประกาศสาธารณสุขของไทยนั้นควบคุมความชื้นของชาไว้อยู่ที่ไม่เกิน 7% แต่โดยทั่วไปแล้วชาที่ผลิตกันจะควบคุมให้มีความชื้นไม่เกิน 4-5% โดยพยายามทำให้ใบชาแห้งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อปกป้องรักษาคุณภาพใบชาเอาไว้นั่นเอง
.
.
ด้วยเหตุนี้ กฏข้อแรกของการเก็บรักษาใบชาคือ ใบชาต้องสัมผัสกับความชื้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยิ่งชาแห้งเท่าไรก็ยิ่งรักษาคุณภาพของใบชาได้นานเท่านั้น ในทางกลับกัน ยิ่งใบชามีความชื้นอยู่มากเท่าไร คุณภาพของใบชาก็จะยิ่งถดถอยลงด้วยอัตราเร่งที่มากขึ้นเท่านั้น
.
ปัจจัยข้อที่สองที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของใบชาก็คือออกซิเจน การเกิดออกซิเดชั่นของใบชาหมายถึงกระบวนการที่สารสำคัญภายในใบชาทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ การเกิดออกซิเดชั่นนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านรสชาติ โดยชาทั้งหลายทั้งมวลนั้น มีทั้งชาที่ต้องการออกซิเดชั่น และชาที่ไม่ต้องการออกซิเดชั่น โดยสามารถแบ่งแยกได้เป็นสองประเภทดังนี้
.
ประเภทที่หนึ่ง
คือชาที่ไม่ต้องการออกซิเดชั่น ชาประเภทนี้คือชาเขียว ทั้งชาเขียวจีน และชาเขียวญี่ปุ่น ชาประเภทนี้ควรเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อรักษาความสด และควรบริโภคให้หมดภายในหนึ่งปีหลังจากซื้อมา
.
ประเภทที่สอง
คือชาที่ต้องการออกซิเดชั่น ชาประเภทนี้ต้องอาศัยการทำปฏิกิริยาระหว่างสารสำคัญในใบชากับออกซิเจนเพื่อเพื่อเหตุผลในการพัฒนารสชาติ ชาประเภทนี้ยิ่งเก็บไว้นานจะยิ่งพัฒนารสชาติให้เกิดความทุ้มลึก มีมิติของรสชาติที่กว้างและลึก ตัวอย่างของชาประเภทนี้ได้แก่ชาอู่หลงอบไฟ เช่น เหยียนฉา ชาแดงหรือชาดำประเภทต่างๆ ชาขาว และชาหมัก เช่น ชาผูเอ่อ เป็นต้น
.
ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลต่อคุณภาพของใบชาคือแสง แสงโดยเฉพาะอย่างย่ิงแสงแดดนั้นส่งผลให้คุณภาพของชาแย่ลง ดังนั้น ชาทุกประเภทจะต้องถูกจัดเก็บให้ห่างจากแสงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภาชนะที่เหมาะสมควรมีลักษณะทึบแสง เช่น กระปุกโลหะ เซรามิก ถุงอะลูมิเนียมฟอยล์ เป็นต้น ภาชนะโปร่งแสง เช่น โหลแก้ว ถุงใส ไม่เหมาะสำหรับการเก็บรักษาคุณภาพของใบชา
.
.
อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังอีกประการหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะเก็บชาไว้ที่ใดก็ควรระลึกไว้อยู่เสมอ คือชาเป็นวัตถุที่มีคุณสมบัติดูดกลิ่น ไม่ว่าจะใช้ วิธีเก็บรักษาใบชา ไว้ที่ใด ชาจะดูดซับกลิ่นจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ ดังนั้นก่อนการบรรจุชาลงภาชนะบรรจุใด ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าภาชนะบรรจุนั้นปราศจากกลิ่นไม่พึงประสงค์ และมีคุณสมบัติที่สามารถปิดภาชนะบรรจุได้อย่างแนบสนิท และเพื่อเป็นการทำให้แน่ใจว่าชาที่ถูกเก็บรักษาจะไม่ดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์เข้ามา ก็ต้องตรวจสอบให้เรียบร้อยด้วยว่าสภาพแวดล้อมโดยรอบที่ตั้งภาชนะเก็บรักษาชามีอากาศถ่ายเทค่อนข้างดี ไม่มีกลิ่นใดๆที่อาจจะเล็ดลอดเข้าไปถูกดูดซับโดยใบชาได้
KYOBASHI chiang rai
สอบถาม,เลือกชม หรือสั่งซื้อสินค้า
Fฺacebook Fanpage : รู้เฟื่องเรื่องชา
LINE SHOPPING : @kyobashi.tea