ช้อนไม้ไผ่ “ฉะชะขุ”…สัญลักษณ์ของความเรียบง่าย
สีเข้ม ทำจากไผ่สึสึดาเกะ (煤竹)
“ฉะชะขุ” (茶杓: Chashaku) คือ ช้อนตักชา ทำจากไม้ไผ่ ใช้สำหรับตักผงชาเขียว “มัทฉะ” ในพิธีซะโดหรือพิธีชงชาญี่ปุ่น
เอกลักษณ์ของ “ฉะชะขุ” คือความเรียบง่าย สังเกตได้จากรูปทรงที่ทำจากไม้ไผ่ที่มีความเรียว ยาว มีส่วนปลายด้านหนึ่งโค้งงอเข้ามา ทำหน้าที่เป็นช้อน ฉะชะขุเองก็เหมือนกับฉะเซ็น หรือแปรงตีชา ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนานิกายเซน อันเป็นแนวคิดที่ทรงอิทธิพลต่อศิลปะญี่ปุ่นเกือบทั้งมวล
การประดิษฐ์ฉะชะขุขึ้นมาหนึ่งอัน ต้องใช้ความชำนาญและความพิถีพิถันเช่นเดียวกันกับฉะเซ็น คือพื้นที่และองศาการงอของปลายช้อน จะต้องพอดีเมื่อช้อนปลายช้อนเข้าไปในกระปุกชา แล้วตักผงชามัทฉะออกมา น้ำหนักของมัทฉะที่ได้ต่อการตักหนึ่งครั้งแบบช้อนพูน จะต้องมีน้ำหนักประมาณ 1 กรัมพอดี เพราะการชงมัทฉะในพิธีชงชาญี่ปุ่นนั้น จะมีกำหนดไว้แน่นอนว่าการชงชาแบบเข้ม(濃茶) หรือแบบอ่อน(薄茶) นั้น จะต้องใช้ผงมัทฉะกี่ช้อน โดยผู้ที่ชงชาแบบญี่ปุ่นเป็นนั้น ก็จะมีฉะชะขุประจำตัวติดตัวไว้อย่างน้อยคนละหนึ่งอัน
ข้อห้ามสำหรับ ช้อนไม้ไผ่
ทำความสะอาดโดยการเช็ด
ฉะชะขุ หรือช้อนไม้ไผ่ มีข้อห้ามที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ หลังจากใช้ตักมัทฉะแล้ว “ห้ามล้าง” หรือ “ห้ามโดนน้ำ” เด็ดขาด!!!!
สาเหตุก็เป็นเพราะว่า ฉะชะขุ คืออุปกรณ์ที่สัมผัสกับมัทฉะโดยตรง หากนำไปล้าง ฉะชะขุจะมีความชื้น เวลานำไปตักมัทฉะ ความชื้นก็จะวิ่งไปหามัทฉะที่อยู่ในภาชนะเก็บ ทำให้มัทฉะจับตัวกันเป็นก้อน อีกทั้งการล้างฉะชะขุบ่อยๆ จะทำให้ไม้ไผ่เสียทรง และเก่าเร็วขึ้น
ส่วนวิธีที่ถูกต้อง ในการทำความสะอาดฉะชะขุหลังจากใช้ตักมัทฉะเสร็จแล้ว ก็คือการใช้กระดาษทิชชู่แห้งๆ ค่อยๆเช็ดผงมัทฉะออก แค่นี้ก็เรียบร้อยครับ
ช้อนที่ทำจาก ไผ่สึสึดาเกะ (煤竹)
ไผ่สึสึดาเกะ (煤竹)
ในสมัยก่อน บ้านญี่ปุ่นจะเป็นบ้านแบบหลังคาทำจากฟางหนาๆแบบที่เห็นตามเมือง Shiragawako โดยเพดานจะถูกทำจากไม้ไผ่ นำมามัดรวมๆกันเป็นแพ และปูลาดเป็นผืนยาว อย่างที่เห็นในรูป นอกจากนี้ บ้านคนญี่ปุ่นสมัยก่อน จะมีหม้อไฟ หรือเรียกว่า อิโนริ (囲炉裏) มีลักษณะเป็นหม้อแขวนลงมาจากเพดาน ส่วนตรงพื้นก็จะมีช่องสำหรับก่อกองไฟ เอาไว้สำหรับทำอาหารและให้ความอบอุ่นแก่สมาชิกในครัวเรือนในฤดูหนาว เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีฮีทเตอร์
และตรงนี้แหละครับ ที่ขี้เถ้าจากอิโนริ จะลอยขึ้นไปเกาะกับไม้ไผ่ที่ถูกทำเป็นเพดานข้างบน พอผ่านไปสัก 100 กว่าปี สีของไม้ไผ่ก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม และกว่าจะได้สีน้ำตาลสวยๆนั้น อาจจะต้องใช้เวลามากถึง 150-200 ปี จึงจะได้ไผ่เคลือบขี้เถ้าสีน้ำตาลสวย คนญี่ปุ่นเรียกไผ่แบบนี้ว่า “สึสึดาเกะ”
เวลารื้อถอนบ้าน ไม้แทบทุกส่วน คนญี่ปุ่นจะเก็บไว้นำไปรีไซเคิล โดยการนำไปขายต่อ เช่น ไม้บางชิ้นที่มีขนาดใหญ่ สำหรับทำจั่ว ก็อาจจะขายให้กับบริษัทสร้างบ้าน แต่ปกติ ไผ่สึสึดาเกะ คนญี่ปุ่นจะนิยมขายให้กับช่างฝีมือเพื่อนำไปประดิษฐ์เป็นงานฝีมือต่างๆเช่น กระเป๋าจักรสาน โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งบ้าน ฉะชะขุหรือช้อนไม้ไผ่สำหรับตักมัทฉะ ฯลฯ ซึ่งส่วนมากผลงานที่ถูกสร้างโดยไผ่สึสึดาเกะมักจะมีราคาแพง เนื่องจากใช้เวลานานกว่าไม้ไผ่จะเปลี่ยนสี และปัจจุบัน บ้านโบราณแบบนี้ก็มีเหลืออยู่น้อยแล้ว และที่มีอยู่ ก็สมควรอนุรักษ์ไว้ จึงไม่ค่อยมีการรื้อบ้านแบบนี้กันอีก
เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของไผ่สึสึดาเกะคือ สีของไม้ไผ่ จะไม่ค่อยเรียบเสมอกันทั่วทั้งอัน เพราะส่วนของไม้ไผ่ที่ถูกเชือกมัด เวลาถูกนำไปทำเป็นเพดาน ก็จะไม่สัมผัสกับขี้เถ้าเลยตลอดระยะเวลา 100-200 ปี สีตรงส่วนนั้นจึงไม่เป็นสีน้ำตาลมากเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น เวลานำไผ่สึสึดาเกะมาทำเป็นช้อนฉะชะขุ แต่ละอันจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางท่านอาจสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมสีมันไม่เท่ากัน ผมเลยอยากจะบอกว่า ตรงนี้แหละครับ คือความสวยงามของไผ่สึสึดาเกะ
ชื่อมงคลที่คนญี่ปุ่นนิยมนำมาตั้งเป็นชื่อ “ฉะชะขุ”
・徒然(สึเระซึเระ) แปลว่า “ว่างวาย”
・和やか(นาโกยะกะ) แปลว่า “อบอุ่น”
・聖(ฮิจิริ) แปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์”
・無事(บุจิ) แปลว่า “นิรันดร์”
・平安(เฮอัน) แปลว่า “ปลอดภัยยั่งยืน”
・無一(มุอิจิ) แปลว่า “ไม่มีตัวตน”
・無心(มุชิน) แปลว่า “ใจสงบ”
・山里(ยามะซะโตะ) แปลว่า “บ้านพักกลางเขา”
・夢(ยูเมะ) แปลว่า “ฝัน”
・喜び(โยโรโคบิ) แปลว่า “ชื่นมื่น”
・和(หวะ) แปลว่า “สงบ”
・若人(หวะโคโดะ) แปลว่า “เยาว์วัย”
・相生 (ไอโออิ) แปลว่า “แก่ไปด้วยกัน”
・和楽(หวะระขุ) แปลว่า “ร่วมสุข”
・永寿(เอจู) แปลว่า “อายุยืนยาว”
・果報者(คะโบโมะโนะ) แปลว่า “ผู้โชคดี”
・閑居(คังเคียว) แปลว่า “สันโดษ”
・感謝(คันฉะ) แปลว่า “ขอบคุณ”
・好意(โคอิ) แปลว่า “ประสงค์ดี”
・好日(โคจิทสึ) แปลว่า “วันดี”
・心の友(โคโคโระโนะโทโมะ) แปลว่า “เพื่อนรู้ใจ”
・静(ชิซึกะ) แปลว่า “นิ่ง”
・初心(โฉะชิน) แปลว่า “ใจจริง”
・末広(สึเอฮิโระ) แปลว่า “เติบใหญ่”
・洗心(เซนชิน) แปลว่า “ชำระใจ”
・高砂(ทาคาซาโกะ) แปลว่า “เหมือนเดิม”
・宝船(ทาคาราบุเนะ) แปลว่า “เรือสมบัติ”
・千歳(จิโตเสะ) แปลว่า “(อายุ)พันปี”
・鶴亀(สึรุคาเมะ) แปลว่า “นกกระเรียนกับเต่า”
NOTE:
***ชื่อส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธนิกายเซน
***บางคำ เช่น 静(ชิซึกะ) จะไม่แปลตรงตัวว่า เงียบ แต่จะแปลถึงสภาพที่คำๆนั้นต้องการจะสื่อมากกว่า คือ ความนิ่งในความเงียบสงัด ไม่ใช่สภาพที่ปราศจากเสียงใดๆ
.
KYOBASHI รู้เฟื่องเรื่องชา
LINE: @kyobashi.tea