ชาไต้หวัน ที่จะชนะรางวัลได้จะต้องมีรสชาติที่ซับซ้อน คือมีหลายมิติ ไม่รสแบน
เถี่ยกวนอิน 鐵觀音 หรือ ทิกวนอิม เป็นชาอีกตัวที่น่าลองจากไต้หวันครับ
ต้นกำเนิดชาตัวนี้ ดั้งเดิมนั้นมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในอดีตจะทำกันแบบรสชาติเข้มข้น คือหมักชาหนัก อบไฟแรง 重發酵重烘焙 เรียกว่าหนงเชียง 濃香 ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนารสชาติในแบบหอมดอกไม้ออกมา ที่จะใช้ระดับการหมักน้อยกว่า ไม่อบไฟ โดยรสชาติและกลิ่นจะเคล้ากันไประหว่างชาสดกับดอกไม้ การทำชาแบบใหม่นี้จะเรียกกันว่า ชิงเชียง 清香
ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมาอยู่ไต้หวันเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน นำกล้าพันธุ์เถี่ยกวนอินด้วยมาจากอานชี ฝูเจี้ยน จากนั้นก็เริ่มปลูกที่เขตมู่จ้า 木柵 ในไทเป ปัจจุบันบริเวณเขตมูจ้าจึงเต็มไปด้วยลูกหลานของคนตระกูลจัง 張 ที่เป็นคนนำต้นกล้าเถี่ยกวนอินข้ามทะเลมาจากแผ่นดินใหญ่
.
การทำเถี่ยกวนอินของไต้หวัน จะเป็นแบบดั้งเดิมทั้งหมด คือทำแบบหนงเชียง ไม่ได้ทำแบบชิงเชียง โดยในแต่ละ เกษตรกรของมู่จ้าก็จะมีการประกวดชาอยู่เป็นประจำ ปีละสองรอบ คือฤดูใบไม้ผลิ 春茶 กับฤดูหนาว 冬茶 โปรไฟล์รสชาติของชาที่ใช้ในการประกวด จะลดระดับของการอบไฟลงมาหน่อยนึง คืออยู่ในระดับกลางค่อนไปทางสูง เนื่องจากไฟระดับนี้ อยู่ในระดับพอดีที่จะทำให้ชามีรสออกมาในโทนของดอกไม้และผลไม้สุก 果花香 เพราะการประกวดชานั้น ชาที่จะชนะรางวัลได้จะต้องมีรสชาติที่ซับซ้อน คือมีหลายมิติ ไม่รสแบน หากใช้ไฟแรงเกินไฟชาก็จะออกมามีรสชาติเดียว การลดระดับไฟลงมาจึงเป็นเทคนิคที่มักใช้ในการตกแต่งรสชาติของอู่หลงให้มีความหลากหลาย ซึ่งเถี่ยกวนอินของไต้หวันมักจะใช้เทคนิคนี้ในการผลิตชาออกมาให้มีคุณภาพทางด้านรสชาติสูงๆ
.
เถี่ยกวนอินตัวนี้ของไต้หวัน ก็เป็นเถี่ยกวนอินที่ใช้เทคนิคแบบดั้งเดิม โดยเป็นชาล็อตที่ใช้ในการประกวดรางวัลครับ รสชาติจึงซับซ้อน มีหลายมิติ โทนที่โดดเด่นจะอยู่ในโทนของผลไม้สุก กลิ่นหอมผลไม้ดอกไม้ชัดเจน น้ำชามีรสชาติ และมีเนื้อหนา 濃厚 (body หนา) มีกลิ่นของไฟ 焙香 เคล้าไปกับชา ชาแบบนี้สามารถเก็บได้หลายปี ยิ่งเก็บรสชาติก็จะยิ่งกลมกล่อม ถ้าเก็บนานเกินห้าปี จะเรียกกันว่า เหลาเถี่ย 老鐵 หมายถึง เถี่ยกวนอินเก่าเก็บ
.
.
เนื่องจากเป็นล็อตชาประกวด จึงใช้พันธุ์เถี่ยกวนอินในการทำ โดยเวลาดื่มชาไปแล้ว จะยังคงกลิ่นหอมของชาอยู่ในปาก สัมผัสตรงนี้จะเรียกกันว่า กวนอินยุ่น 觀音韻 หมายถึงกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของเถี่ยกวนอินที่หลงเหลืออยู่ในปากและในลำคอ แม้จะกลืนน้ำชาลงไปแล้วก็ยังไม่หาย คล้ายกับเวลาดื่มเหยียนฉาจากอู่อี๋ซาน ซึ่งความรู้สึกจากเหยียนฉานั้นจะเรียกกันว่า เหยียนยุ่น 岩韻
.
เนื่องจากเป็นชาล็อตประกวด ที่ใช้เบลนด์ระหว่างล็อตผสมกันแล้วส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัล จึงรับประกันคุณภาพทางด้านรสชาติครับ ล็อตแบบนี้เดินหาตามร้านชาในไต้หวันก็ไม่เจอ เพราะชารสแบบนี้จะมีอยู่เพียง 5% จากที่ผลิตกันออกมาทั้งหมด เวลาผลิตออกมาได้พวกเถ้าแก่ร้านดังๆก็มักจะกว้านซื้อเก็บไว้ เนื่องจากเป็นชาอบไฟ เก็บได้นาน หากเก็บไว้ในแพ็คสุญญากาศ คุณภาพก็เก็บไปได้เรื่อยๆไม่สิ้นสุด แต่ถ้าหากเปิดถุงให้สัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ ก็สามารถทำเป็นเหลาเถี่ย หรือเถี่ยกวนอินเก่าเก็บ สามารถรื่นรมย์ไปกับอรรถรสได้อีกแบบ
ชาอู่หลง ต้งติ่งจากไต้หวัน 凍頂烏龍茶
ชาอู่หลงต้งติ่ง ถือว่าเป็นชาที่มีชื่อเสียงโด่งดังอีกตัวหนึ่งของไต้หวัน จัดอยู่ในประเภทของ ชาอู่หลง เป็นชาที่ผ่านการหมักนาน อบไฟแรง รสชาติและกลิ่นของชาจะอยู่ในโทนของถั่ว ผลไม้สุก บ๊วย น้ำตาลไหม้ อีกทั้งยังมีกลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์ของชาที่ผ่านการอบไฟแรง เป็นชาที่มีอายุการเก็บได้ยาวนาน สามารถเก็บได้เรื่อยๆ เป็นชาอีกตัวที่เหมาะสำหรับนำมาทำชาเก่า (老茶)
.
ต้งติ่งเป็นชื่อของภูเขาในจังหวัดหนานโถวซึ่งอยู่ในบริเวณภาคกลางของไต้หวัน ในปี ค.ศ. 1855 ชาวจีนสองคนได้นำต้นกล้าชาสายพันธุ์ชิงซินอู่หลงมาจากอู่อี๋ซานในฝูเจี้ยน และแบ่งมาปลูกที่ภูเขาต้งติ่งจำนวน 12 ต้น แต่ผ่านไปราว 100 ปี จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง พื้นที่ปลูกชาที่ภูเขาต้งติ่งก็มีเพียง 300 ไร่เท่านั้น จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลไต้หวันเริ่มให้ความสำคัญกับการให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการเพาะปลุกและผลิตชาในยุค 1950 และ 1960 การทำชาบนภูเขาต้งติ่งก็ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1976 จึงเริ่มมีการจัดประกวดชาต้งติ่งขึ้นทุกฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิในแต่ละปี เพื่อสนับสนุนผลผลิตของเกษตร
ชาต้งติ่งที่เก็บไว้นาน จะเป็นชาที่ดื่มแล้วสบายท้อง ไม่กัดกระเพาะ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น
พื้นที่ปลูกชาต้งติ่งจะอยู่บนความสูง 600-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล สายพันธุ์ชาที่นำมาผลิตชาต้งติ่งมีหลากหลาย ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างชิงซินอู่หลง หรือสายพันธุ์ใหม่ๆอย่างจินเชวียน ชุ่ยยู่ ซื่อจี้ชุน เป็นต้น ในปี ค.ศ. 1999 เริ่มมีเกษตรกรนำใบชาที่ถูกแมลงกัดในฤดูร้อนมาผ่านกระบวนการทำชาแบบต้งติ่ง ทำให้ชาที่ผลิตได้มีรสหอมหวานคล้ายผลไม้สุก ชาต้งติ่งแบบนี้ จะถูกจำหน่ายในชื่อของกุ้ยเฟย (貴妃茶)
.
การชงชาต้งติ่ง จะใช้ใบชา 8 กรัม ชงกับน้ำร้อนอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ปริมาณ 120 มล. แช่ใบชาไว้ 1 นาทีจึงรินออก น้ำต่อๆไป ให้บวกเวลาเข้าไปอีกน้ำละ 10 วินาที สามารถชงได้เรื่อยๆจนกว่าใบชาจะหมดรสชาติ
.
เนื่องจากเป็นชาอบไฟแรง หลังจากซื้อชาต้งติ่งมาแล้ว จะต้องตัดถุงออกเพื่อให้ชาได้สัมผัสกับอากาศ หลังจากนั้นควรเก็บชาไว้ในกระปุกราว 2 สัปดาห์ก่อนนำมาดื่ม เพื่อทำการถอนไฟ โดยชาต้งติ่งจะเริ่มมีรสชาติอร่อยขึ้นหลังจากถอนไฟมาได้แล้วราว 6 เดือน-1 ปี หลังจากนั้นรสชาติจะพัฒนามีความซับซ้อนและมีมิติที่มากขึ้น เริ่มมีรสชาติของบ๊วยและผลไม้สุกที่ชัดเจนมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อผ่านพ้น 5 ปีไปแล้ว ก็จะสามารถเรียกได้ว่าชาเก่า หรือ เหล่าฉา 老茶 โดยชาต้งติ่งที่เก็บไว้นาน จะเป็นชาที่ดื่มแล้วสบายท้อง ไม่กัดกระเพาะ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ไล่ความชื้น ชาประเภทอื่นที่ผ่านการอบไฟกลางถึงแรง เช่นเถี่ยกวนอิน ก็สามารถนำมาทำชาเก่าเหมือนกับชาต้งติ่งได้เช่นกัน
.
ชาต้งติ่งของเรา ทำโดยอาจารย์ชาชาวไต้หวัน จากภูเขาต้งติ่ง เป็นชาฤดูใบไม้ผลิ ใช้ใบชาสายพันธุ์ชิงซินอู่หลง ผลิตตามกระบวนการผลิตชาต้งติ่งแบบดั้งเดิม ใช้สูตรการหมักนาน อบไฟแรง ชาที่เรารับมาเป็นล็อตผลิตที่ใช้เบลนด์เข้าด้วยกันระหว่างล็อตต่างๆเพื่อส่งประกวด จึงสามารถรับประกันได้ในเรื่องรสชาติ สี กลิ่นของน้ำชา ว่าตรงตามมาตรฐานของชาต้งติ่งคุณภาพดีตามแบบฉบับของชาต้งติ่งแบบดั้งเดิม
金萱 茶王 จินเชวียน ฉาหวาง ชาอู่หลง ชาไต้หวัน
เกาซานอู่หลง พันธุ์จินเชวียน 金萱 จากดอยหลีซาน บนพื้นที่ปลูกความสูง 1,800 เมตร ไร่ชาอยู่ข้างสวนพีช ใบชาจึงซึมซับกลิ่นจากต้นพีชมาโดยธรรมชาติ หอมเป็นพิเศษ ใช้สูตรชาสด ชิงเชียง อบไฟอ่อนมาก น้ำชารสหวานติดปลายชัดเจนและมีกลิ่นของผลไม้สุก เป็นล็อตที่หาได้ยากมาก ในไต้หวันก็ไม่มีขายทั่วไป
ชาตงฟางเหม่ยเหริน 東方美人茶 Oriental Beauty Tea
Queen Victoria ชื่นชอบมาก จนถึงกับอุทานออกมาว่า “Oriental Beauty”
ตงฟางเหม่ยเหริน เป็นชาที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปลายศตวรรษท่ี 19 เกิดจากเกษตรกรชาในเขตเป๋ยผู่ จังหวัดชินจู๋บนเกาะไต้หวัน นำยอดชาที่ถูกแมลงกัดกินในฤดูร้อน นำมาหมักให้เกิดเป็นชาอู่หลงที่มีกลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้งและดอกไม้ ตามตำนานเล่าว่ามีการส่งชาตัวนี้ไปยังอังกฤษ และ Queen Victoria ชื่นชอบมาก จนถึงกับอุทานออกมาว่า “Oriental Beauty” เป็นต้นกำเนิดของชื่อชาตัวนี้
ตงฟางเหม่ยเหรินตามสูตรต้นตำรับ จะต้องใช้ใบของต้นชาพันธุ์ชิงซินต้าหมั่ว 青心大冇 โดยใช้ยอดชาที่เด็ดได้ในฤดูร้อนมาทำเท่านั้น โดยฤดูการทำชาตัวนี้ จะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ของทุกปี สาเหตุที่ต้องใช้ใบชาในฤดูร้อน เป็นเพราะว่า แมลงในฤดูร้อนมีจำนวนเยอะที่สุด โอกาสที่ยอดชาจะถูกแมลงกัดกินก็มีเยอะที่สุด โดยยอดชาที่ถูกแมลงกัดนั้น จะสามารถนำมาทำชาได้มีกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่ายอดชาที่ไม่ถูกแมลงกัด
.
ชาตงฟางเหม่ยเหรินเป็นชาทำมือครับ เนื่องจากยอดชามีขนาดเล็กมาก ขั้นตอนการเขย่าชาจึงต้องทำด้วยมือ ไม่สามารถใช้เครื่องจักรผลิตได้ ปัจจุบันการทำชาตงฟางเหม่ยเหรินในไต้หวัน จะมีการประกวดอยู่หลายเวที โดยเวทีที่ใหญ่ที่สุดคือเวทีประกวดของจังหวัดชินจู๋ ชาที่ชนะรางวัลพิเศษในแต่ละปีของเวทีนี้ ถูกขายกันในราคา 660,000 NTD ต่อ 600 กรัม
.
ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ผลิตชาตงฟางเหม่ยเหรินที่โด่งดังที่สุดในไต้หวัน มีอยู่สามบ้าน คือบ้านฉือ บ้านเจียง และบ้านหยาง ชาตงฟางเหม่ยเหรินของเรามาจากบ้านฉือครับ ปัจจุบันเพื่อนเป็นรุ่นที่ 4 โดยพ่อของเพื่อนซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 ทำชาชนะรางวัลพิเศษมาทั้งหมด 15 ครั้ง ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ชาของบ้านนี้ จะใช้ยอดจากต้นชาพันธุ์ชิงซินต้าหมั่ว เป็นชาทำมือ และใช้การอบไฟโดยใช้ถ่านไม้ลำไยทุกล็อตครับ
ไม่ได้เป็นชาที่กัดกระเพาะแต่อย่างใด ในทางกลับกันพอดื่มเข้าไปแล้วกลับรู้สึกสบายท้องสบายตัวอย่างน่าประหลาด
KYOBASHI chiang rai