“…ยุคคะมะกุระนี่เองที่ชาเริ่มมีอิทธิพลต่อรากฐานความคิดและมุมมองต่อความสวยงามของคนญี่ปุ่น ตั้งแต่ยุคเฮอันเป็นต้นมา การสร้างที่อยู่อาศัยของราชวงศ์ ขุนนาง และนักรบ มีรูปแบบโอ่อ่า มีลักษณะเป็นอาคารหลายหลังที่มีทางเดินเชื่อมถึงกัน การก่อสร้างอาคารแบบนี้ถูกขนานนามว่า ชินเด็นสึขุริ โดยชินเด็นมีความหมายถึงอาคารใจกลางที่เป็นศูนย์กลางของการประทับของจักรพรรดิ ในพระราชวังและบ้านที่ีสร้างโดยใช้สถาปัตยกรรมแบบชินเด็นสึขุริ จะปรากฏอาคารปลีกย่อยหลายหลังแยกออกมาจากส่วนใจกลางที่เรียกว่าชินเด็น โดยอาคารแต่ละหลังจะถูกเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินที่มีลักษณะคล้ายระเบียง มีหลังคา ผนังเปิดโล่งสามารถมองเห็นความสวยงามของทิวทัศน์ได้
.
ในยุคเริ่มแรกนั้นอาคารสำหรับชงชาจะถูกสร้างแยกไว้เป็นเอกเทศ จนกระทั่งในศตวรรษที่สิบห้านี้เอง ที่ชาเริ่มถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผ่อนคลายและสร้างความสำราญย์ มีการสร้างห้องชงชาไว้เป็นห้องๆหนึ่งอยู่ในตัวบ้าน โดยมิได้แยกเป็นอาคารออกไปอย่างโอ่อ่า ในห้องชงชานี้ถูกปูด้วยเสื่อทะทะมิ มีการสร้างโทะโคะโนะมะ หรือยกพื้นสำหรับการแขวนภาพเขียน ห้องแต่ละห้องในอาคารที่ถูกสร้างโดยสถาปัตยกรรมแบบนี้จะถูกกั้นโดยฟุสุมะ หรือประตูเลื่อนที่บุด้วยกระดาษสา สถาปัตยกรรมแบบนี้เรียกว่า โฉะอินสึขุริ คำว่าโฉะอินหมายถึงห้องสำหรับอ่านหนังสือ หรือห้องสำหรับการศึกษาเล่าเรียนวิธีการเขียนพู่กัน เป็นรากฐานของสถาปัตยกรรมบ้านญี่ปุ่นในปัจจุบัน…”
.
จากบท Of Japan ว่าด้วยญี่ปุ่น ในต้นฉบับหนังสือเล่มใหม่ที่กำลังเขียนครับ
KYOBASHI chiang rai